“ความฝันในหอแดง”
กลางศตวรรษที่ 18 ราชวงศ์ชิงกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่วงการวรรณกรรมจีนกลับมีนวนิยายเรื่องยาวเล่มหนึ่งที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าสังคมศักดินากำลังจะก้าวไปสู่ความเสื่อมสลาย นวนิยายเรื่องนี้ชื่อ“ความฝันในหอแดง”
“ความฝันในหอแดง”เป็นวรรณกรรมอมตะของจีน เหตุที่ทำให้เฉาเสวี่ยฉินสามารถแต่งวรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องนี้ได้นั้น ที่สำคัญก็เพราะเขามีชะตาชีวิตที่แปรผันมาก เขาเคยอยู่อย่างหรูหราใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย แต่ช่วงหลังตกอับจนขัดสน ปู่ของเฉาเสวี่ยฉินเคยเป็นขุนนางคนโปรดของพระเจ้าคางซี เฉาเสวี่ยฉินในวัยเด็กอยู่ในครอบครัวร่ำรวยมาก แต่ภายหลังตระกูลเฉาเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง ปู่ของเขาถูกปลดจากตำแหน่ง ทรัพย์สมบัติถูกริบ และต้องย้ายจากภาคใต้มาอยู่กรุงปักกิ่ง เฉาเสวี่ยฉินในวัยหนุ่มจึงได้ลิ้มรสชีวิตทั้งหวานและขมมาอย่างโชกโชน ในบั้นปลายชีวิต เฉาเสว่ฉินได้แต่ง“ความฝันในหอแดง”ความยาวแปดสิบตอนในเวลาที่ลำบากยากจนยิ่ง ยังแต่งไม่ทันจบสมบูรณ์ก็ป่วยหนักจนเสียชีวิต
“ความฝันในหอแดง”มีอีกชื่อหนึ่งว่า“ความเป็นมาของก้อนหิน”ในขณะที่เฉาเสวี่ยฉินยังมีชีวิตอยู่และยังแต่งไม่ทันจบสมบูรณ์นั้น ผลงานนี้ก็ได้แพร่หลายไปในสังคมแล้ว หลังจากเขาเสียชีวิตลง มีนักประพันธ์คนหนึ่งชื่อเกาเอื้อได้แต่งต่ออีก 40 ตอนต่อจาก 80 ตอนที่เฉาเสว่ฉินได้แต่งไว้ ทำให้“ความฝันในหอแดง”จบบริบูรณ์ในที่สุด
“ความฝันในหอแดง”เป็นนวนิยายที่มีลักษณะเป็นสารานุกรม มีตัวละครเกือบทุกชนชั้นในสังคมจีนในยุคนั้นตั้งแต่พระราชวงศานุวงศ์ ชนชั้นผู้ดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระสงฆ์องค์เจ้าไปจนถึงคนรับใช้ พ่อค้า ชาวนาฯลฯ ได้บรรยายขนบประเพณี พิธีรีตอง งานสมรส งานศพของชนชั้นสูงไปจนถึงอาชีพต่าง ๆ ของสามัญชน เช่นช่างอิฐ ช่างไม้ ชาวสวน แพทย์ หมอดูและนักแสดงเป็นต้น ได้สะท้อนสภาพสังคมราชวงศ์ชิงจากหลายมุมมอง
มุมมองของเฉาเสวี่ยฉินเริ่มจากพระราชวงศานุวงศ์ แล้วมารวมอยู่ที่ตระกูลเจี่ย ตระกูลสื่อ ตระกูลหวางและตระกูลเซวีย โดยเล่าเรื่องตระกูลเจี่ยที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์”ต้ากวนหยวน” เป็นเสมือนตัวแทนของสังคมศักดินาที่ค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง
บุคคลใน“ความฝันในหอแดง”มีกว่า 700 คน ในจำนวนนี้ เฉพาะบุคคลที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดมีกว่าร้อยคน เฉาเสวี่ยฉินสามารถบรรยายสภาพจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อนและแปรผันตลอดเวลาของผู้หญิงโดยเฉพาะหญิงสาวอย่างละเอียดสมจริง ทำให้ผู้อ่านเห็นความใฝ่ฝันของหญิงสาวเหล่านั้น โดยเฉพาะความปรารถนาแรงกล้าในความรัก ในขณะที่บรรยายอุปนิสัยและบุคลิกลักษณะของตัวละคร ได้สะท้อนอิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อตัวบุคคล ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าตัวละครเหล่านั้นเหมือนบุคคลในชีวิตจริง
คุณค่าทางศิลปะของ“ความฝันในหอแดง”เป็นประเด็นที่ชวนศึกษาวิจัยอย่างไม่มีวันสิ้นสุด การใช้ภาษา การวางโครงเรื่อง การสร้างตัวละครในวรรณกรรมเรื่องนี้ล้วนพัฒนาถึงระดับสูงสุดของวรรณกรรมจีน