งิ้ว“หวงเหมยซี่”

งิ้ว“หวงเหมยซี่”

งิ้ว“หวงเหมยซี่”เดิมมีชื่อว่า “หวงเหมยเตี้ยว”หรือ “ไฉ่ฉาซี่ ” เป็นงิ้วพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีขึ้นในเขตเชื่อมต่อกันระหว่างมณฑลอานฮุย หูเป่ยและเจียงซี ต่อมา สำนักหนึ่งของงิ้วพื้นบ้านชนิดนี้ได้ค่อย ๆ ย้ายไปทางทิศตะวันออกถึงเขตอานชิ่นที่มีอำเภอหวนหนิงของมณฑลอานฮุยเป็นศูนย์กลาง ศิลปะการแสดงงิ้วชนิดนี้ได้หลอมรวมเข้ากับศิลปะพื้นเมืองในท้องถิ่น ใช้ภาษาท้องถิ่นขับร้องและพูดเวลาแสดง จึงก่อรูปขึ้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน มีชื่อเรียกกันว่า “หวนเชียง”หรือ“หวนเตี้ยว” ซึ่งก็คือชนิดงิ้วก่อนที่จะเป็นงิ้ว”หวงเหมยซี่”ในทุกวันนี้นั่นเอง เมื่อกลางศตวรรษที่ 19  “หวงเหมยซี่”ได้รับอิทธิพลจากงิ้ว“ชินหยังเชียง”และ“ฮุยเตี้ยว” งิ้ว”หวงเหมยซี่”ในฐานะเป็นงิ้วเต็มรูปแบบชนิดหนึ่งได้ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักและยอมรับจากประชาชนทั่วไป การแสดงงิ้ว”หวงเหมยซี่”ในช่วงระยะเริ่มแรกนั้น มีลักษณะพิเศษของการร้องรำทำเพลง เน้นหนักการเลียนแบบชีวิตแบบธรรมชาติ ไม่มีรูปแบบการแสดงที่ตายตัว เวลานั้น นักแสดงงิ้ว”หวงเหมยซี่”ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและช่างฝืมือ เสื้อผ้าชุดแสดง เครื่องประกอบการแสดงและฆ้องกลองถึงเวลาแสดงก็ไปรวบรวมจัดหามาผสมผเสกันขึ้น ออกไปแสดงถึงที่ไหนก็มักจะขอหยิบยืมจากผู้ชมในที่นั้น งิ้ว”หวงเหมยซี่”ในช่วงนั้น กล่าวโดยพื้นฐานแล้วเป็นรูปแบบศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้แรงงานในชนบทขับร้องเองเล่นเองเพื่อความสนุนสนานสำราญของตนเอง

      “หวงเหมยซี่”แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ “ฮวาเชียง”กับ “ผิงฉือ”

“ฮวาเชียง”ถือการแสดงงิ้วง่าย ๆ เป็นหลัก เปี่ยมไปด้วยกลิ่นไอแห่งชีวิตและเพลงลูกทุ่ง  ส่วน “ผิงฉือ”เป็นทำนองขับร้องหลักในงิ้ว”หวงเหมยซี่”ที่สำคัญ มักมีการพรรณนาเรื่องราวและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก มีรสชาติหลากหลาย  ไพเราะรื่นหูและเป็นไปตามธรรมชาติอย่างน่าประทับใจยิ่งนัก

      บทละครดีเด่นของงิ้ว”หวงเหมยซี่”มีมากมาย อาทิเช่น “เทียนเซียนเพ่ย” “หนิวหลังจือหนี”   “หนีฟู่หม่า”   “ไหวอิงจี้  ”  “ ฟูชีกวนเติง” และ  “ ต่าจูเฉา” เป็นต้น

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์กระชับมิตร และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย