คารวะ หยวนหลงผิง : บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม พาจีนพ้นยุคแกะเปลือกไม้กิน ไฮบริดปลูกข้าวในทะเลทราย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 24 พ.ค. 2564

ยามค่ำสถานที่สำคัญในเมืองฉางซา ยังได้ฉายภาพของศาสตราจารย์หยวนสว่างไสวในใจคน

สื่อจีนรายงานข่าวการเสียชีวิตของศาสตราจารย์หยวน หลงผิง “บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม” ในวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.07 น. (เวลาท้องถิ่น) ที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนัน ประเทศจีนนี้ นับเป็นข่าวใหญ่ในประเทศจีน ประชาชนส่งต่อข้อความอาลัยจำนวนมาก ฝูงชนเมืองฉางซาได้มารวมตัวกันท่ามกลางสายฝน นอกศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งชาติฉางชาของจีน ซึ่งเป็นที่ทำงานหลักของศาสตราจารย์หยวน หลงผิง

โกลบอลไทม์ และ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ได้บันทึกภาพของประชาชนเรียงรายอยู่ตามท้องถนน ขณะที่รถเคลื่อนย้ายร่างของศาสตราจารย์หยวน ได้ผ่านมาเมื่อวันเสาร์ ที่ 23 พ.ค. โดยมีคนจำนวนมากร้อง รวมทั้งคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ตะโกนเรียก “คุณปู่หยวน” ด้วยความรักและศรัทธา ขณะที่ยามค่ำสถานที่สำคัญในเมืองฉางซา ยังได้ฉายภาพของศาสตราจารย์หยวนสว่างไสวในใจคน

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของศาสตราจารย์หยวน ผ่านทางสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ในมณฑลหูหนาน ยกย่องคุณูปการในความมั่นคงด้านอาหารของจีนที่ท่านมีส่วนร่วมสำคัญ

โลกออนไลน์ของจีนรวมถึงเว็บไซต์ข่าวชั้นนำและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ Weibo ไปจนถึง WeChat เต็มไปด้วยการยกย่องหยวน ด้วยการแสดงความเสียใจทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้หลาย ๆ คนนึกถึงการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญทางการเมือง เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และอดีตผู้นำสูงสุดเติ้งเสี่ยวผิง

มุมจีนขอนำเรื่องราวของท่านมานำเสนออีกครั้ง เพื่อร่วมคารวะอาลัยและย้อนมอง 40 ปี ที่พาจีนพ้นยุคแกะเปลือกไม้กิน ไฮบริดปลูกข้าวในทะเลทราย

ประชาชนเรียงรายอยู่ตามท้องถนน ขณะที่รถเคลื่อนย้ายร่างของศาสตราจารย์หยวน ได้ผ่านมาเมื่อวันเสาร์ ที่ 23 พ.ค.

หยวน หลงผิง เติบโตมาในยุควิปโยคชาวจีนนับล้านเสียชีวิต เพราะความอดอยาก จนต้องแกะเปลือกไม้มาป่นกินแทนข้าว.ความใฝ่ฝันของการอุทิศตนทำงานในหน้าที่ฯ ของเขา คือ การมองท้องทุ่งนา ได้ “นั่งอยู่ใต้ร่มเงาเมล็ดข้าว” ซึ่งแสดงว่าต้นข้าวสามารถเติบโตจนสูง รวงข้าวแน่นดกหนายาวเหมือนไม้กวาด และชาวจีนไม่ต้องอดอยากเช่นอดีตอีกต่อไป

เมื่อครั้งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นมามีอำนาจในจีนเมื่อปี ค.ศ. 1978 ได้ริเริ่มเปิดรับวิทยาการพัฒนาชาติตามตะวันตก ด้วย “นโยบายสี่ทันสมัย” พัฒนา 4 ด้าน คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในเวลานั้น คงยังไม่มีใครคิดว่าจีนจะพัฒนาจนทันสมัย แซงล้ำหน้าชาติอื่น ๆ ได้อย่างทุกวันนี้

จากกลียุคแกะเปลือกไม้มาป่นกินแทนข้าว จีนก้าวกระโดดขึ้นมาด้วยความอุตสาหะของคนในประเทศจำนวนมากมาย ศาสตราจารย์หยวน หลงผิง “บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม” วัย 87 ปี หัวหน้าศูนย์วิจัยข้าวของจีน ก็เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่จะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของจีน ด้วยความเป็นนักปฐพีวิทยาและนักการศึกษา ซึ่งริเริ่มพัฒนาข้าวลูกผสมไฮบริด พันธุ์แรกในทศวรรษที่ 1970 จนทุกวันนี้ จีนมีข้าวทดลองปลูกมากกว่า 200 ชนิดแล้ว

ศาสตราจารย์หยวน เกิดที่กรุงปักกิ่งในปีพ.ศ. 2473 บ้านบรรพบุรุษของเขาอยู่ในเขตเต้ออัน จิ่วเจียง มณฑลเจียงซี เป็นคนจีนร่วมสมัยสงครามจีน – ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 และสงครามกลางเมือง ครอบครัวต้องอพยพและผลัดเปลี่ยนที่เรียนในโรงเรียนหลายแห่ง รวมถึงหูหนาน ฉงชิ่ง หานโข่ว และหนานจิง

หลังสำเร็จการศึกษาจาก Southwest Agricultural College (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Southwest University) ในปีพ.ศ. 2496 หยวนจึงได้เริ่มสอนในโรงเรียนเกษตรกรรมในเมืองอันเจียง มณฑลหูหนาน

ภัยจากธรรมชาติและนโยบายทางการเมืองที่วิบัติ (ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง จนถึงการก้าวกระโดดครั้งใหญ่) ได้ก่อให้เกิดวิปโยคชาวจีนนับล้านเสียชีวิต เพราะความอดอยาก

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หยวนได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ในปีพ.ศ. 2507 เขาได้ตั้งโรงวิจัยข้าวธรรมชาติเพื่อใช้ในการทดลองการผสมข้ามพันธุ์ของเขา พัฒนาให้มีข้อดีเหนือกว่าพันธุ์ชนิดอื่น

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในตอนนั้น ก็คือยังไม่มีวิทยาการที่สามารถปลูกซ้ำข้าวพันธุ์ผสม ให้ได้ในปริมาณมาก และหยวนได้ใช้เวลาสองปี ค้นคว้าวิจัยจนประสบความสำเร็จแก้ปัญหาความเสื่อมของพันธุ์ข้าวอันเกิดจากการกลายพันธุ์ และทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนสามารถยืนยันเป็นทฤษฎีข้าวพันธุ์ผสม หรือข้าวไฮบริด

ในปีพ.ศ. 2522 เทคนิคการเพาะข้าวไฮบริดของเขาถูกนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ทำให้เป็นกรณีแรกของทรัพย์สินทางปัญญาในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปัจจุบัน ข้าวไฮบริดของศาสตราจารย์หยวน หลงผิง ได้เติบโตขึ้นในหลายสิบประเทศ ทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกาและเอเชีย พื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความอดอยาก และผลงานข้าวพันธุ์ผสมหลากหลายชนิด ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ผลผลิตสูงขึ้น และไปไกลอีกขั้น ด้วยการพัฒนาค้นคว้าข้าวไฮบริดทนน้ำเค็ม วิเคราะห์การจัดลำดับของยีน ทำให้ได้ข้าวน้ำเค็มสายพันธุ์ใหม่ “Sea-rice” เติบโตได้ดีในน้ำกร่อย น้ำเค็ม หรือแหล่งเสื่อมโทรมที่มีปัญหาดินเค็ม ทนต่อศัตรูพืช โรคพืช จนกระทั่งสามารถปลูกในทะเลทราย และปลูกโดยใช้น้ำทะเลที่มีความเค็ม

ศาสตราจารย์หยวน ได้เริ่มสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวน้ำเค็ม ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2559 เพื่อพัฒนาข้าวทนต่อการเจริญเติบโตของน้ำทะเลและดินเค็มได้ จนปี 2560 ได้ทดลองปลูกข้าว โดยใช้น้ำทะเลที่เจือจางบนดินเพื่อทดสอบว่าข้าวชนิดใดที่สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำเค็ม ค้นพบข้าว 4 ชนิดในการทดลองฯ ซึ่งทนทานและให้ผลผลิตประมาณ 6.5 ถึง 9.3 ตันต่อเฮกตาร์ มีความเหมาะสมในการพัฒนาผลผลิตขนาดใหญ่

ศาสตราจารย์หยวน หลงผิง และคณะนักวิทยาศาสตร์จีน ประสบความสำเร็จล่าสุด ในการทดลองปลูกข้าวในที่ลุ่มน้ำเค็ม ที่นครดูไบแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถปลูกข้าวได้ในพื้นที่เขตร้อนทะเลทราย โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 500 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ปลูกราว 666 ตารางเมตร หรือ 1 หมู่ ตามหน่วยวัดของจีน (1 ไร่ เท่ากับ 1,600 ตารางเมตร) ทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นไปอีก ที่จีนจะเข้าไปปลูกข้าวในดินแดนตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

โกลบอลไทม์ส เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้รายงานความเป็นมาของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าว นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเนินทะเลทรายเวิ้งว้างกลายเป็นทุ่งนาข้าวเขียวขจี ห่างจากท่าเรือเจเบล อาลี เพียงขับรถหนึ่งชั่วโมง

ผลงานนาข้าวที่ปลูกบนทะเลทรายของนักวิทยาศาสตร์จีนนี้ สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 7,500 กิโลกรัมต่อ เฮกตาร์ (6.25 ไร่) สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของข้าวในทุ่งนาปกติทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์

ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข่าวการเก็บเกี่ยวข้าวไฮบริดจีนในทะเลทรายดูไบ ยังเป็นเพียงข่าวที่ไม่มีรายละเอียดสำคัญๆ ของโครงการนี้ โดยรู้เพียงว่า นักวิทยาศาสตร์เตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 100 เฮกตาร์ และมีเป้าหมายสำคัญการขยายพื้นที่ปลูกข้าวบนทะเลทรายให้ครอบคลุมพื้นที่ราว 10% ของทะเลทรายในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การพัฒนาค้นคว้าข้าวไฮบริดทนน้ำเค็ม วิเคราะห์การจัดลำดับของยีน ทำให้ได้ข้าวน้ำเค็มสายพันธุ์ใหม่ Sea-rice

โกลบอลไทม์ส เผยแผนการนี้ชื่อว่า “Green Dubai” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยการเพาะปลูกข้าวด้วยน้ำทะเลของจีนในเมืองชิงเต่า กับกิจการส่วนพระองค์ของชีกห์ซาอีด บิน อาห์เหม็ด อัล มักตูม (Sheikh Saeed Bin Ahmed Al Maktoum) เจ้าผู้ปกครองนครดูไบ เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยน้ำทะเล ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหาร และน้ำในการเพาะปลูก อันเป็นเหตุทำให้ประเทศต้องนำเข้าอาหารถึง 80%

การทดลองปลูกข้าวน้ำเค็มของจีนในดูไบนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อได้รับคำเชิญไปทดลองปลูกข้าวในทะเลทรายของประเทศดูไบ จากชีกห์ซาอีด บิน อาห์เหม็ด อัล มักตูม หลังทรงทราบข่าวความสำเร็จของโครงการข้าวพันธุ์ผสมของศาสตราจารย์ หยวน หลงผิง ในประเทศจีน เมื่อปีพ.ศ. 2558

จาง กั่วตง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชิงเต่าในมณฑลซานตงกล่าวกับ โกลบอลไทม์ส ว่า “ครั้งแรกที่ทราบคำเชิญ เราไม่อยากเชื่อเลยว่ามันเป็นความจริง จนกระทั่งได้รับการยืนยันเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม แม้การทดลองพิสูจน์ว่าข้าวสามารถทนต่อน้ำเค็ม และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ แต่การย้ายการทดลองไปยังทะเลทรายจริงๆ นั้น ยังเป็นงานที่น่าวิตก

จาง ซู่วเฉิน หัวหน้าฝ่ายการผลิตของโครงการดูไบ ของศูนย์ชิงเต่ากล่าวว่า “ความร่วมมือกับผู้ปกครองนครดูไบ เป็นเรื่องที่ทำให้เราดีอกดีใจ แต่ก็กังวลเพราะสภาพดินและอากาศในดูไบต่างจากประเทศจีนมาก เรากลัวว่าการทดลองจะล้มเหลว”
“เรายอมรับคำเชิญ เพราะเชื่อว่าแม้ว่าเราจะล้มเหลว แต่นี่คือก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์การเพาะปลูกข้าว”

อุณหภูมิในทะเลทรายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกลางวันถึงกลางคืน โดยมีความแตกต่างกันถึง 30 องศา เป็นความท้าทายที่สำคัญ นอกจากนั้น ยังมีพายุทรายซึ่งพัดทรายเข้ามา ทำลายความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดิน
“นั่นหมายความว่า ระบบการเพาะปลูกข้าวแบบเดิม ๆ ส่วนใหญ่ที่เคยทำกันมานั้น จะใช้ไม่ได้กับที่นครดูไบ ดังนั้น เราต้องหาวิธีใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับความเป็นจริงในท้องถิ่น”

นอกเหนือจากการคัดเลือกประเภทข้าวที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับดินในท้องถิ่นได้ดีขึ้นแล้ว ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวิธีการในการปรับปรุงดินในท้องถิ่นอีก 4 วิธี ซึ่งรวมถึง การปรับสภาพความเป็นด่างของดิน และใช้วิทยาการอัจฉริยะ Internet of Things (‘IoT’ หรืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) กับระบบการชลประทานใต้ดินอัจฉริยะ

นักวิทยาศาสตร์ได้ฝังระบบชลประทานอัจฉริยะไว้ใต้ทุ่งนา ลึกประมาณ 0.5 เมตร เพื่อส่งสารอาหารและน้ำไปยังรากของต้นข้าวโดยตรง และยังสร้างระบบติดตามสภาพใต้ดินอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบและปรับระดับน้ำทะเล

“มีบางครั้งที่เรากังวลความไม่แน่นอนของข้อมูล แต่ทุ่งนาไม่เคยหลอกใคร สำเร็จหรือล้มเหลว ได้หรือไม่ได้ ทุกอย่างจะชัดเจนจากสภาพการณ์ที่ทุ่งนา” จาง ซู่วเฉิน กล่าว

… แล้วในที่สุด ต้นข้าวก็ออกรวงทองกลางทุ่งทะเลทราย …

หลังจากนักวิจัยฯ เริ่มปักกล้าต้นข้าวทนน้ำเค็ม ที่ศูนย์วิจัยข้าวทนน้ำเค็ม นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต้นปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้เชิญทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศทั้งอินเดีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ เพื่อประเมินความคืบหน้า ซึ่งพบว่า ข้าว 5 ชนิดที่ปลูกในทะเลทราย ให้ผลผลิต 4.8-7.8 ตันต่อเฮกตาร์ ผลผลิตเหล่านี้ ยังสูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 4.5 ตันต่อเฮกตาร์

ในการทดลองที่ตามมา ทีมงานยังได้พบว่ามีข้าว 4 ชนิด ที่ผลผลิตมากกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั่วโลก

การวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จครั้งแรกในการปลูกข้าวที่ทนต่อความเค็มในทะเลทรายของดูไบ

สมาชิกสภาพัฒนาภูมิภาคตะวันตก แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ความสำเร็จของการทดลองนี้เป็นข่าวดีสำหรับพื้นที่ทะเลทรายที่ติดกับทะเล และแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่บนดินแดนนี้เป็นไปได้จริง คณะผู้บริหารท้องถิ่นนครดูไบ ยังได้หุงข้าวให้ผู้สื่อข่าวโกลบอลไทม์ส ลิ้มรสข้าวที่ปลูกในทะเลทราย พบว่าข้าวนึ่งหอมพิเศษ และรสชาติน่าประทับใจ ไม่มีความเค็มเลย

ณ เวลานี้ ดูไบ ยังมีโครงการพัฒนาที่ดินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำนาข้าวน้ำเค็มเชิงพาณิชย์ในระยะยาว

จาง ซู่วเฉิน กับทีมวิจัยข้าวน้ำเค็มของจีนซึ่งมีประมาณ 20 คน รับผิดชอบการทดลองและค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 โดยเดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแก้ปัญหาในระยะการเติบโตต่าง ๆ ของข้าว ตั้งแต่ระยะปักดำต้นกล้าไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์

ภายใต้แนวทางของข้อตกลงกรอบความร่วมมือ “Green Dubai” ทีมวิจัยของจีนจะดำเนินการทดสอบเป็น 4 ขั้นตอน รวมกับการทดสอบเชิงอุตสาหกรรม

ขั้นตอนแรกนั้น เกี่ยวข้องกับการทดสอบความหลากหลายของวิธีการปลูกข้าวที่อุณหภูมิต่าง ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่า ข้าวพันธุ์ไหน และเทคนิคปลูกใดมีความเหมาะสมที่สุด

การทดลองในช่วงที่เหลือ ของปี พ.ศ. 2561 กำลังอยู่ระหว่างดำเนินงาน เป้าหมายหลักคือการตรวจวิเคราะห์ในภาคสนาม ณ สถานีเก็บตัวอย่างของดินที่เหมาะสมและการไหลเวียนของปุ๋ย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มขั้นตอนที่สาม ในปีพ.ศ. 2562 ซึ่งจะรวมถึงการพัฒนานาข้าวน้ำเค็ม และสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน นิเวศวิทยาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแนะนำการลงทุนทางการค้าโดยการใช้เงินทุนจากโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งทาง

ขั้นตอนที่สี่ คือขั้นสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีในพื้นที่มากขึ้นภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายทุ่งนาข้าวน้ำเค็ม ครอบคลุมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทะเลทรายชายฝั่งทะเลของดูไบ

ในอนาคตประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังวางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและส่งเสริมข้าวน้ำทะเลด้วย เพื่อร่วมเพาะปลูกข้าวน้ำทะเล ทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือด้วย

ตลอด 60 กว่าปี “หยวนหลงผิง” (袁隆平) ทำงานการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยความมุมานะไม่ย่อท้อ นับว่าบรรลุความใฝ่ฝันของเขา และได้จากไปในวันที่แผ่นดินซี่งเขาอยู่และอาศัยนี้ ดีกว่าวันที่เขาเกิดมา

วันชาติจีนเมื่อสองปีก่อน ขบวนรถเกียรติยศ พร้อมขบวนรถอารักขา ได้นำศาสตราจารย์หยวน หลงผิง และกลุ่มบุคคลสำคัญของประเทศจีน เข้าสู่พิธีบุคคลเกียรติยศแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่มหาศาลาประชาชน เวลา 10.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562 ตามเวลาปักกิ่ง

ศาสตราจารย์หยวน หลงผิง ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาข้าวข้ามสายพันธุ์แห่งชาติ นักวิจัยฯ ผู้อุทิศตนทั้งชีวิต ใหักับงานคิดค้นพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ จีนมีข้าวทดลองปลูกมากกว่า 200 ชนิด เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักในปัจจุบันของชาวจีนกว่าร้อยละ 65.

ภาษิตจีนมีว่า “หากภูเขาเขียวขจี ย่อมมีฟืนสำหรับจุดไฟ …เช่นเดียวกับหัวใจไม่ยอมแพ้ ย่อมพบทางสำเร็จเสมอ.”

ประชาชนร่วมคารวะศพ ศาสตราจารย์หยวน หลงผิง เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 พ.ค. โดยมีคนจำนวนมากรวมทั้งคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ร้องตะโกนเรียก คุณปู่หยวน ด้วยความรักและศรัทธา