“เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16” ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

แขกผู้มีเกียรติร่วมกันถ่ายภาพ

  วันที่ 4 พฤศจิกายน “เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16” ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไทย ดำเนินงานโดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ หอภาพยนตร์แห่งประเทศจีนและหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย ร่วมดำเนินงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานครและสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยประเทศจีน นายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไทย นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีประเทศไทยและประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ เข้าร่วมพร้อมตัดริบบิ้นในงานพิธีเปิดครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมในงานพิธีเปิดเกือบ 300 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สื่อมวลชนจีนและไทย รวมถึงผู้ชมทั่วไป

เอกอัครราชทูตหานจื้อเฉียงกล่าวในพิธีเปิด

เอกอัครราชทูตหานจื้อเฉียงกล่าวในพิธีเปิดงานครั้งนี้ว่า เมื่อไม่นานมานี้การประชุมผู้แทนระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 (สมัชชา 20) ณ กรุงปักกิ่ง ประสบความสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี โดยเป็นการสรุปการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตลอด 10 ปีแห่งยุคใหม่ และทบทวนความสำเร็จอันสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำพาชาวจีนไปสู่ความสนใจจากทั่วโลก ในช่วง 10 ปีของยุคใหม่ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีสีจิ้นผิงเป็นแกนนำได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างวัฒนธรรม ยึดมั่นในแนวทางการทำงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างประเทศที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมสังคมนิยม และกระตุ้นการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของคนทั้งชาติ ทศวรรษนี้ยังเป็นยุคทองที่ภาพยนตร์จีนพัฒนาอย่างเฟื่องฟูอีกด้วย โดยมีผลงานดีๆ จำนวนมากที่สอดคล้องกับยุคสมัยและจังหวะของการพัฒนาประเทศอย่างใกล้ชิด จากการแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาพยนตร์และโทรทัศน์ของจีน-ต่างประเทศ ภาพยนตร์จีนได้เข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนระดับโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และใช้ศิลปะของแสงและเงาเพื่อเล่าเรื่องราวของประเทศจีนให้โลกได้รับรู้

โปสเตอร์งาน

เอกอัครราชทูตหานจื้อเฉียงกล่าวว่า “เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ” ในฐานะแบรนด์ทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูตจีนและศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ มีความมุ่งมั่นที่จะแนะนำการพัฒนาของจีน และเล่าเรื่องราวของชาวจีนสู่สังคมไทย สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ หวังว่าเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนชาวไทยมีความเข้าใจและความประทับใจเกี่ยวกับจีนยุคใหม่อย่างลึกซึ้ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวในพิธีเปิด

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า ไทยและจีนดำเนินความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งและดำเนินการตาม “แผนการดำเนินการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีน” อย่างแข็งขัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองชาติ นายอิทธิพลกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ และได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม โดยภาพยนตร์ก็เป็นสาระสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ “เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ” เป็นโครงการสำคัญที่ฝ่ายวัฒนธรรมของไทยและจีนให้ความสำคัญ และยังคงดำเนินความร่วมมือมาโดยตลอด กระทรวงวัฒนธรรมประเทศไทยจะลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ร่วมกับสำนักงานบริหารภาพยนตร์แห่งประเทศจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทผลิตภาพยนตร์ของไทยและจีน

อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายพินิจ จารุสมบัติ กล่าว

อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวแสดงความยินดีอย่างอบอุ่นกับความสำเร็จในการประชุมผู้แทนระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 (สมัชชา 20) โดยกล่าวว่าภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนไม่เพียงแก้ปัญหาปากท้องได้เท่านั้น แต่ยังพัฒนาสู่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หลังจากการทำงานหนักมาหลายทศวรรษ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การร่วมสร้างโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และแนวคิด “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” ฯลฯ ที่รัฐบาลจีนเสนอขึ้นนั้น ได้ให้แนวทางสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และการเรียนรู้อารยธรรมร่วมกัน การเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดความขัดแย้งและรักษาสันติภาพของโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและจีน จะขาดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่ได้ เชื่อว่า “เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16” จะแสดงให้เราเห็นถึงวัฒนธรรมจีนในยุคใหม่ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และยังช่วยให้เราได้เห็นถึงความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองของจีนยุคใหม่ที่ผู้คนมีชีวิตที่ดีและมีความสุข

การเสวนาแลกเปลี่ยนด้านภาพยนตร์

หลังจากพิธีเปิด ได้มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Coffee Or Tea?” และได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนด้านภาพยนตร์ โดยมีผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย ตลอดจนผู้กำกับและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย โดยเน้นที่หัวข้อ “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และคุณค่าแห่งยุคสมัยของภาพยนตร์จีน” โดยมีการแลกเปลี่ยนและการอภิปรายจากหลายมุมมองและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม จากแบบสอบถามที่เก็บรวบรวมได้ภายในงาน แขกและผู้เข้าชมต่างกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ยอดเยี่ยม และการเสวนาแลกเปลี่ยนด้านภาพยนตร์ก็เจาะลึกและเป็นประโยชน์อย่างมาก

แขกเดินชมนิทรรศการ

นิทรรศการ “ยุคใหม่แห่งภาพยนตร์และจิตรกรรม • นิทรรศการโปสเตอร์ภาพยนตร์จีน”

 เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ทำการฉายภาพยนตร์ทั้งหมด 9 เรื่อง รวมถึงภาพยนตร์ปิดท้ายเรื่อง “Home Coming” ซึ่งเพิ่งเข้าฉายในประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ ภาพยนตร์ทั้งหมดจะจัดฉายใน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์และโรงภาพยนตร์เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล พระราม 9 รวมรอบฉาย 27 รอบ นอกจากนี้ยังสร้างสถิติเทศกาลภาพยนตร์จีนที่มีจำนวนการฉายมากที่สุดและรอบฉายมากที่สุดจากเทศกาลภาพยนตร์จีนในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ “ยุคใหม่แห่งภาพยนตร์และจิตรกรรม • นิทรรศการโปสเตอร์ภาพยนตร์จีน” ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย นิทรรศการแบ่งเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ “เส้นทางเหมือนดั่งบทเพลง” “ช่วงวิกฤต” “ความรักในโลกใบนี้” “เสน่ห์ของตะวันออก” และ “เรื่องราวในประเทศไทย” มีการจัดแสดงโปสเตอร์ภาพยนตร์จีนยอดเยี่ยมกว่า 30 เรื่องที่ผู้ชมชื่นชอบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ภาพบรรดาผู้ชม

 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย และผลักดันการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างจีน-ไทย ฝ่ายจีนจึงได้จัดตั้ง “เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ” ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2546 และเริ่มจัดงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย ในปี พ.ศ.2561 เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทยที่สำคัญในช่วงก่อนวันที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และเป็นโครงการเฉลิมฉลองที่สำคัญเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ

B

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์กระชับมิตร และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย