เจิง

เจิง

กู่เจิงปัจจุบันเป็นเครื่องดนตรีที่มีสาย 21 สายใช้วางในแนวนอนเวลาเล่น แต่ละสาย มีหย่อง(ไม้ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายตัว A รองรับสายแต่ละเส้น)รองรับ หย่องของกู่เจิงสามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้เพื่อปรับระดับเสียงหรือเปลี่ยนคีย์(บันไดเสียง) หย่องมีตำแหน่งค่อนไปทางด้านขวาของเครื่อง “กู่เจิง” เป็นเครื่องสายจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี จากหลักฐานสมัยราชวงศ์ฉินกู่เจิงถูกเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งคือ “ฉินเจิง” หรือ “พิณของฉิน” ซึ่งเริ่มแรกนั้นกู่เจิงมีสายเสียงเพียง 5 สาย จนถึงสมัยราชวงศ์ถังมีสายเพิ่มเป็น 13 สาย ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิงเพิ่มเป็น 14 สาย และเพิ่มเป็น 16 สาย ในสมัยราชวงศ์ชิง จนศตวรรษที่ 20 กู่เจิงก็ได้รับการพัฒนาต่อให้มีสายเสียงเพิ่มขึ้นอีกเป็น 18 และ 21 สาย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสายที่ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน แต่สามารถพบเห็นกู่เจิง 26 สายได้บ้างแต่ไม่นิยมนักเนื่องจากตัวใหญ่เทอะทะเกินไป เดิมนั้นสายเป็นเส้นไหมฟั่นกัน ในปัจจุบันใช้สายโลหะในลักษณะเดียวกับสายของเครื่องดนตรีสากล (นั่นคือ ใช้โลหะพันรอบสายแสตนเลสโดยมีสายไนล่อนพันทับอีกครั้งความหนาขึ้นกับขนาดของสาย) มีขนาดเล็กใหญ่ตามลำดับของเสียง ตัวกู่เจิงทำด้วยไม้หลายชิ้นประกอบเข้าด้วยกันลักษณะคล้ายกล่องยาวด้านบนโค้งเล็กน้อยภายในกลวงทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง แผ่นไม้ปิดด้านบนเป็นไม้คุณภาพดีเพื่อใช้เป็น sound board ทำจากไม้สนชนิดหนึ่ง ด้านข้าง หัวท้ายเป็นไม้เนื้อแข็งเป็นโครง ด้านล่างเป็นไม้เจาะช่องตามตำแหน่งที่ออกแบบให้เสียงออกมาได้อย่างทั่วถึง ตัวกู่เจิงจะปิดด้วยไม้เนื้อดียกเว้นส่วนซาวน์บอร้ดและด้านล่างเช่นไม้แดง(หงมู่)หรือไม้จันทน์ม่วง(จื่อถาน)อาจมีการประดับตกแต่ง แกะลาย หรือปิดด้วยหินสี หยก เพื่อความสวยงามทั้งด้านหัว ท้ายและด้านข้าง สายกู่เจิงจะถูกขึงระหว่างหัว-ท้ายพาดผ่านสะพานสาย(bridge)โดยมีหย่องรับสายเพื่อปรับระดับเสียงระหว่างสะพานหัว-ท้าย ที่ตั้งสายจะอยู่บริเวณส่วนหัว มีฝาปิดมิดชิด กู่เจิงบางรุ่นในปัจจุบันมีปุ่มที่สามารถปรับเปลี่ยนคีย์ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องเลื่อนหย่อง เหมาะสำหรับเล่นในวงออเคสตร้าจีนที่มีการปรับเปลี่ยนหลายคีย์ในเพลง

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์กระชับมิตร และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย