ประวัติของงิ้วปักกิ่ง

งิ้วปักกิ่งของจีนถูกขนานนามว่าเป็น“อุปรากรแห่งบูรพา” นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติขนานแท้ของจีน เพราะเกิดขึ้นในปักกิ่ง จึงมีชื่อเรียกกันว่า “จิงจวี้” ที่แปลเป็นไทยว่า “งิ้วปักกิ่ง” งิ้วปักกิ่งมีประวัติกว่า 200 ปีแล้ว ต้นกำเนิดของงิ้วปักกิ่งต้องย้อนหลังไปถึงงิ้วท้องถิ่นเก่าแก่บางชนิดในอดีต โดยเฉพาะคือ “ฮุยปัน” ที่เป็นงิ้วท้องถิ่นที่เคยแพร่หลายอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของจีนเมื่อศตวรรษที่ 18   ในปี 1790  คณะงิ้วท้องถิ่น“ฮุยปัน”คณะแรกเข้าสู่กรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมงานแสดงเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาของจักรพรรดิ หลังจากนั้น มีคณะแสดงงิ้ว“ฮุยปัน”จำนวนไม่น้อยได้ทยอยเข้าไปแสดงในกรุงปักกิ่ง เนื่องจาก“ฮุยปัน”เคลื่อนย้ายไปมาตามที่ต่าง ๆ บ่อย ๆ เข้าใจดูดซับเอาบทละครและศิลปะการแสดงของงิ้วชนิดอื่น ๆ มาปรับใช้เป็นของตัวเองอยู่เสมอ ประกอบกับปักกิ่งเป็นแหล่งที่รวมของงิ้วท้องถิ่นมากมาย จึงช่วยให้ “ฮุยปัน” ได้ยกระดับศิลปะการแสดงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปลายศตวรรษที่ 19  ต้นศตวรรษที่ 20 หลังผ่านการหลอมรวมเป็นเวลานานหลายสิบปี งิ้วปักกิ่งจึงก่อรูปขึ้นในที่สุด และกลายเป็นการแสดงงิ้วบนเวทีชนิดใหญ่ที่สุดของจีน

ในบรรดางิ้วชนิดต่าง ๆ ของจีน งิ้วปักกิ่งครองอันดับหนึ่งในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความหลากหลายของบทละคร จำนวนศิลปินนักแสดง จำนวนคณะแสดง จำนวนผู้ชมผู้ฟังและอิทธิพลที่กว้างขวาง เป็นต้น

งิ้วปักกิ่งเป็นศิลปะการแสดงสมบูรณ์แบบที่รวมศิลปะ“การขับร้อง” “การพูด” “การแสดงลีลา”  “การแสดงศิลปะการต่อสู้”และ“ระบำรำฟ้อน”เข้าไว้ด้วยกัน ตัวละครของงิ้วปักกิ่งที่สำคัญแบ่งเป็น “เซิง” (เพศชาย) “ตั้น” (เพศหญิง)  “จิ้ง” (เพศชาย) และ “โฉว” (มีทั้งเพศชายและเพศหญิง) นอกจากนั้นยังมีตัวละครประกอบอีกจำนวนหนึ่ง

รูปแบบการแต่งหน้าเป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของงิ้วปักกิ่ง ความซื่อสัตย์กับความคดโกง ความงามกับความขี้เหร่ ความดีกับความชั่วและความสูงศักดิ์กับความต่ำต้อย เป็นต้น ต่างก็แสดงให้เห็นได้โดยผ่านลวดลายในการแต่งหน้า เช่น สีแดงใช้กับบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สีม่วงเป็นสัญลักษณ์แห่งความชาญฉลาด ความกล้าหาญและความมีน้ำใจ สีดำสะท้อนถึงอุปนิสัยใจคอสูงส่งที่ซื่อตรง สีขาวบ่งบอกถึงความคดโกงและความโหดเหี้ยมของคนร้าย สีน้ำเงินแฝงไว้ซึ่งความหมายที่มีใจนักสู้และกล้าหาญ สีเหลืองใช้กับตัวละครที่โหดร้ายทารุณ ส่วนสีทองกับสีเงิน มักจะใช้กับตัวละครที่เป็นเทวดาและภูตผีปีศาจ

มีความเห็นทั่วไปว่า ปลายศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงเวลาแรกที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดของงิ้วปักกิ่ง เวลานั้น นอกจากมีสภาพการแสดงงิ้วที่เจริญคึกคักของภาคเอกชนแล้ว การแสดงงิ้วภายในพระราชวังก็มีบ่อยครั้งเช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่า บรรดาขุนนางผู้ดีเชื้อพระวงศ์ต่างก็ชื่นชอบงิ้วปักกิ่ง ส่วนเงื่อนไขทางวัตถุที่ดีภายในพระราชวังก็ได้เอื้ออำนวยความสะดวกไม่น้อยแก่การแสดงงิ้วปักกิ่ง  ตั้งแต่การแต่งหน้านักแสดง เสื้อผ้าอาภรณ์ เวทีแสดงและการจัดฉากแสดง เป็นต้น งิ้วในวังกับงิ้ว“ชาวบ้าน”ส่งผลต่อกันและกันทำให้งิ้วปักกิ่งมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างเป็นประวัติการณ์

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ถึง ทศวรรษที่ 1940 ของศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่สองที่งิ้วปักกิ่งรุ่งเรืองเต็มที่ สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของงิ้วปักกิ่งในยุคนี้คือ งิ้วปักกิ่งสำนักต่าง ๆ เกิดขึ้น งิ้วปักกิ่งสี่สำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ สำนักเหมย สำนักซั่ง สำนักเฉิงและสำนักสุน แต่ละสำนักต่างก็มีนักแสดงชื่อดังจำนวนมาก พวกเขาออกแสดงงิ้วปักกิ่งตามเวทีละครอย่างคึกคักในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งเป็นต้นอย่างคึกคัก ทำให้ศิลปะงิ้วปักกิ่งปรากฏสภาพเจริญรุ่งเรื่องเต็มเปี่ยม

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์กระชับมิตร และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย