จีน-ไทย เสริมสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

ที่มา: TAP Magazine

วันนี้ (23 ก.ค.) ‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16’ จัดขึ้นที่นครหนานหนิง ประเทศจีน ภายใต้หัวข้อ ‘การพัฒนาคุณภาพสูงและความร่วมมือระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน และรัฐบาลกว่างซีเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ

ฟ่าน เสี่ยวลี่ กรรมาธิการสามัญคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตฯกว่างซีจ้วง อธิบดีสำนักโฆษณาพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง, เซี่ย จินอิง ผู้อำนวยการสำนักแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน, เฉิน เต๋อไห่ เลขาธิการใหญ่ศูนย์อาเซียน-จีน ให้เกียรติเข้าร่วมงานและขึ้นกล่าวบนเวที

เซี่ย จินอิง ผู้อำนวยการสำนักแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน

Dato’ Sri Hajah Nancy Shukri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย, อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดผ่านทางวิดีทัศน์

รมว.วัฒนธรรมไทย กล่าวว่า จีนได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมแก่ภูมิภาคอาเซียนมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของจีนที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนและอาเซียนในหลากหลายมิติ ทั้งยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงมิตรไมตรีที่มีต่อกันอย่างยาวนาน

ไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการแผนงานด้านวัฒนธรรมให้เข้ากับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model ผลักดันโครงการ Cultural Product of Thailand หรือโครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย

ด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรมได้ผลักดันยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการยุทธศาสตร์ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในอาเซียน และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สำคัญในตลาดโลก

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

ในส่วนของอุตสาหกรรมวิทยุ โทรทัศน์และโฆษณาเชิงสร้างสรรค์ของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ บริษัทต่างๆ ในไทยมีความร่วมมือที่ดีกับคู่ค้าทั่วโลก โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศจีน ซึ่งความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ช่วยส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสร้างความผูกพันให้ชาวไทยมีความรู้สึกที่ดีกับประเทศจีนได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีระหว่างจีนและไทย ที่ได้มองหาโอกาสเพื่อการพัฒนา ขยายความร่วมมือกันในอนาคต

นอกจากอุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์ที่ได้กล่าวมาแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันแนวคิดว่าด้วยเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative City โดยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินโครงการเมืองสร้างสรรค์แห่งวัฒนธรรมแห่งอาเซียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Cultural Creative Cities for Sustainable Development)

ในเดือนกันยายนนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะจัดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ ประจำปี 2564 โดยในปีนี้ นอกจากจะจัดฉายภาพยนตร์จากประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังกำหนดจัดฉายภาพยนตร์จากประเทศจีนอีกด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเผยแพร่แลกเปลี่ยน และส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนและจีนร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด19 จะสร้างผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดงและเผยแพร่ทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรของจีนกับไทย แต่ผมเชื่อมั่นว่าความต้องการในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนยังคงมีอยู่ และมีความพร้อมที่จะก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

มั่นใจว่ามิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างชาวจีนและชาวไทย รวมทั้งความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์สัมพันธ์ที่แนบแน่น ดังคำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

T

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์กระชับมิตร และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย