สามก๊ก

สามก๊ก

ในประเทศจีน เมื่อเอ่ยถึงวรรณกรรมเรื่อง“สามก๊ก”ตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่จนถึงเด็กเล็กคงไม่มีใครไม่รู้จัก ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ภาพสงครามที่ใหญ่โตครึกโครม ภาพบุคคลที่มีชีวิตชีวา การต่อสู้ด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญตลอดจนเนื้อเรื่องที่สนุกสนานได้รสชาติใน“สามก๊ก”ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวจีนตลอดมา เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่บรรดานักวิชาการชอบศึกษาค้นคว้ากันมาเป็นเวลายาวนาน

หลัวก้วนจง ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ เกิดในครอบครัว ปัญญาชนในศตวรรษที่ 14 เขาชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เป็นการปูทางให้เขาก้าวขึ้นสู่หนทางการประพันธ์ในเวลาต่อมา สมัยของหลัวก้วนจงความขัดแย้งระหว่างชนชาติกับความขัดแย้งระหว่างชนชั้นมีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่ง อำนาจรัฐของราชวงศ์หยวนของชนชาติมองโกล ปกครองชนชาติฮั่นอย่างทารุณโหดเหี้ยม ทำให้ประชาชนชนชาติฮั่นต้องลุกขึ้นต่อสู้ ทั่วประเทศมีกลุ่มกบฏปรากฏขึ้นอย่างไม่ขาดสาย กลุ่มกบฏกลุ่มต่างๆต่อสู้กับทหารของราชวงศ์หยวนแล้ว ยังรวมกำลังกันเพื่อเตรียมที่จะโค่นล้มราชวงศ์หยวนและ ยึดอำนาจการปกครองจีนกลับคืนมา หลัวก้วนจงในวัยหนุ่มก็ได้เข้าร่วมกลุ่มกบฏกลุ่มหนึ่ง ในฐานะที่ปรึกษา หลัวก้วนจงในสมัยนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ใฝ่ฝันที่จะถือโอกาสที่สถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวายเข้ามาปกครองประเทศ แต่ต่อมา กลุ่มกบฏที่จูหยวนจังเป็นผู้นำประสบชัยชนะและสร้างราชวงศ์หมิงขึ้น อุดมการณ์ทางการเมืองของหลัวก้วนจงต้องประสบความสิ้นหวังและล้มเหลว เขาจึงหันมาใช้ชีวิตอย่างสันโดษและประพันธ์วรรณกรรมแทน

“สามก๊ก”ได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เกือบร้อยปีในระหว่างปีค.ศ.184-280 หลัวก้วนจงได้รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ บันทึกเกร็ดชีวิต และนิทานมุขปาฐา ผสมผสานกับอุดมคติทางการเมืองและประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วม สงครามของตน พรรณนาให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองและการทหารในสมัยสามก๊ก อันได้แก่ ก๊กเว่ย ก๊กสู่และก๊กอู๋

“สามก๊ก”ประสบความสำเร็จในหลายด้าน  ในขณะที่บรรยายการต่อสู้ทางการเมืองการการทหารนั้น ที่ได้ใช้ศิลปะการประพันธ์ต่าง ๆ  สร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นกว่า 400 คน ในจำนวนนี้ มีบุคคลสำคัญหลายสิบคน เช่น โจโฉ เจ้าผู้ครองก๊กเว่ยที่ชอบวางแผนพลิกแพลงและขี้ระแวงสงสัย  ขงเบ้ง ที่ปรึกษาทางทหารของก๊กฉู่ ผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เตียวหุย(จางเฟย)นายทหารผู้มีปฏิภาณเฉียบไวและมุทะลุดุดัน โจวอวี๋ (จิวยี่) แม่ทัพก๊กอู๋ผู้เฉลียวฉลาด แต่มีใจแคบเป็นต้นล้วนเป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน

เรื่อง“สามก๊ก”ไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางวรรณกรรมเท่านั้น  หากเป็นผลงานวรรณกรรมเชิงสารานุกรมของสังคมศักดินาที่บรรยายสภาพทุกด้านในสังคมด้วย ในประเทศจีน นับวันจะมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจำนวนมากกำลังศึกษาวิจัยคุณค่าทางวรรณกรรมและความหมายที่มีต่อปัจจุบันของเรื่อง“สามก๊ก”จากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ จิตวิทยา มนุษยสัมพันธ์ การวางกุศโลบาย การบริหาร การทหาร ศิลปะและปรัชญาเป็นต้น

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ

ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์กระชับมิตร และเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย